TNN online ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

คราวก่อน ผมพาทุกท่านไปหาคำตอบว่า ทำไมการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในครั้งใหม่นี้จึงเป็นสิ่งที่จีนและโลกต้องให้ความสนใจ โดยเริ่มจากการประเมินผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและการค้า วันนี้ผมจะขอพูดคุยต่อถึงผลกระทบของการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในแง่มุมอื่นกัน ...

เซี่ยงไฮ้นับว่าเป็นเมืองที่มีระดับการเปิดกว้างและการพึ่งพากับระหว่างประเทศมากที่สุดของจีน โดยในด้านการค้า เซี่ยงไฮ้มีสัดส่วนราว 20% ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกโดยรวม จึงถือเป็นประตูบานใหญ่สุดทางด้านการค้าระหว่างประเทศของจีน

ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ก็มีบทบาทนำในด้านการลงทุนโดยมีความพร้อมสรรพของระบบนิเวศในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากการถูกใช้เป็นเมืองนำร่องของหลายนโยบายและโครงการสำคัญของจีน ตั้งแต่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) ตลาด STAR ตลาดทุนใหม่สำหรับธุรกิจนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ

ในเชิงภูมิศาสตร์ แม้ว่าเซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียงราว 0.1% ของพื้นที่โดยรวมของจีน แต่กลับเป็น “ห้องรับแขกใหญ่” สำหรับรองรับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ต้องการแรงงานคุณภาพสูง และยังเป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งสำนักงานใหญ่/ภูมิภาคและศูนย์วิจัยและพัฒนาจากทั่วทุกมุมโลก 


ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

หากจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมของเซี่ยงไฮ้มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจีดีพีโดยรวมและภายหลังการปรับโครงสร้างภาคการผลิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ได้ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมไฮเทค ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี เหล็กคุณภาพ อุปกรณ์ และยาชีวภาพ ซึ่งส่วนนี้คิดเป็นเกือบ70% ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเซี่ยงไฮ้


ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงค์จากการลงทุนของกิจการต่างชาติในพื้นที่ กิจการเหล่านี้ล้วนมีความทันสมัยด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และประสิทธิภาพการผลิต ทำให้เซี่ยงไฮ้ได้รับประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงตามไปด้วย

ต่อมาเซี่ยงไฮ้ก็เพิ่มบทบาทในเป็นศุนย์กลางการผลิตอุปกรณ์คุณภาพสูง และซอฟท์แวร์ชั้นนำของจีนโดยลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์วงจรรวมรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องบิน รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ที่ขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วง 2-3 ปีหลัง

การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ทำให้โรงงานในพื้นที่จำนวนมากถูกปิดตาย ในความพยายามที่จะรักษาความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของภาคการผลิตบางส่วนเอาไว้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงได้นำเอาระบบปิดล้อม (Closed-Loop System) มาใช้ในโรงงานผลิตในพื้นที่ เหมือนที่เราเคยเห็นการใช้ระบบนี้กับการดูแลนักกีฬา กรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ผ่านมา 

ในทางปฏิบัติ โรงงานขนาดใหญ่ต้องเร่งก่อสร้างและจัดสรรที่พักอาศัยชั่วคราวแก่พนักงานที่ไม่ต้องกลับบ้านในช่วงหลังเลิกงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดจากนอกพื้นที่โรงงาน มาถึงวันนี้ พนักงานของหลายโรงงานไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเวลาราวหนึ่งเดือนเข้าให้แล้ว

แต่ถึงกระนั้น ก็มีโรงงานจำนวนมากที่ไม่อาจเดินสายการผลิตได้ตามปกติ แน่นอนว่า หลายส่วนเป็นกิจการต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น การปิดโรงงานของเทสล่าที่เขตพิเศษหลิงกั่งในผู่ตง จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าขาดหายไปถึง 50,000 คันต่อเดือน ซึ่งหมายถึง การหดหายของรายได้ราว 30,000 ล้านหยวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทและภาษีของรัฐ 

โดยรวมแล้ว ดัชนีภาคการผลิตของจีนในเดือนมีนาคมที่ชะลอตัว จะยิ่งดิ่งหัวลงอย่างมากในเดือนเมษายนอย่างหนีไม่พ้น และอาจชะลอความต่อเนื่องในการพัฒนากิจการด้านนวัตกรรม ฟินเทค และสตาร์ตอัพของจีนในอนาคต

ขณะเดียวกัน ภาคบริการของเซี่ยงไฮ้ก็นับว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสาขาเศรษฐกิจอื่นของเซี่ยงไฮ้ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นถึงราว 70% ของขนาดเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงิน การค้าส่งและค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง และการก่อสร้าง 


ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อภาคบริการเช่นกัน ระบบปิดล้อมดังกล่าวจึงถูกนำไปประยุกต์ใช้กับภาคการเงินของเซี่ยงไฮ้เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินโดยรวม และช่วยให้สามารถรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้เอาไว้ได้ โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ โบรกเกอร์ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในพื้นที่ปิดล้อมเช่นกัน


ในด้านลอจิสติกส์เซี่ยงไฮ้ถือเป็น “ประตู” เข้าออกจีนที่สำคัญทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยในเชิงปริมาณ เซี่ยงไฮ้นับเป็นหนึ่งในจุดขนถ่ายสินค้าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสินค้าคอนเทนเนอร์ผ่านท่าถึงราว 50 ล้านตู้ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือหยางซาน ซึ่งเป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ยังเป็นจุดรับส่งสินค้าคอนเทนเนอร์และเทกองสำหรับเมืองท่าตามแนวแม่น้ำแยงซีเกียงตอนในของจีน ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2022 สินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีจำนวน 8.16 ล้านตู้ ขยายตัว9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ด้วยสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ อัตราการเติบโตที่กำลังไปได้สวยดังกล่าวน่าจะลดลงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ถือเป็นศูนย์กลางด้านการบินที่สำคัญที่สุดของจีนผ่าน 2 สนามบินหลักได้แก่ Shanghai Pudong International Airport “สนามบินผู่ตง” และ Shanghai Hongqiao International Airport “สนามบินหงเฉียว” ซึ่งเทอร์มินัลเก่าและใหม่ถูกปรับปรุงและก่อสร้างขึ้นเป็นระยะ ทำให้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร สินค้า และเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจำนวน 1 ใน 3 ของเที่ยวบินระหว่างประเทศของจีนขึ้นลงผ่านสนามบินเซี่ยงไฮ้ทั้งสองดังกล่าว และราว 50% ของปริมาณวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปก็เข้าออกผ่านเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเป็นจุดนำเข้าอาหารแช่แข็งสำคัญของจีน โดยคิดเป็นถึง 30% ของการนำเข้าโดยรวม

ในช่วงที่จีนปิดประเทศตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เซี่ยงไฮ้ถือเป็นจุดเข้าออกระหว่างประเทศที่มีบทบาทมากขึ้น ทำให้มีระดับ “ความเสี่ยง” ต่อการตรวจพบเชื้อโควิดที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ทั้งจากจำนวนคน พาหนะ และสินค้าเข้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุแห่งความสับสนวุ่นวายอยู่ในปัจจุบัน

การกักคนและสินค้าเพื่อตรวจเข้ม ทำให้เรือขนส่งสินค้าต้องใช้เวลาในการขนถ่ายมากขึ้น และส่วนหนึ่งต้องลอยคออยู่กลางทะเล ขณะที่เที่ยวบินบางส่วนเลือกไปใช้บริการของสนามบินอื่น ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และกดดันต่อไปยังราคาสินค้าปลายทาง

ครั้นเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อโควิดหนักหนามากขึ้น ก็มีการประกาศขอให้หลีกเลี่ยงการใช้บริการขนถ่ายผ่านท่าเรือและสนามบินเซี่ยงไฮ้ สินค้าตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงได้รับผลกระทบโดยตรงในระยะสั้น


ทำไมโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เซี่ยงไฮ้จึงสำคัญกับจีนและโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

ผมประเมินว่า หากการล็อกดาวน์ลากยาวถึง 3 เดือน สต็อกสินค้าของธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่ก็คาดว่าจะหมดลง ผลกระทบจะขยายวงกว้างทั้งในจีนและต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกหรือจัดซื้อสินค้าจากเซี่ยงไฮ้และพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงก็ควรต้องติดตามและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด


นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังประกาศเป้าหมายใหญ่ที่จะเป็นหนึ่งใน “เมืองต้นแบบของโลก” ในปี 2030 เราเห็นการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในเมืองแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ที่ทันสมัย ระบบการแยกขยะอัจฉริยะชุมชน 15 นาทีเดิน (15-Minute Community Life Circle) อาคารสีเขียว (Green Building) และเมืองแนวดิ่ง (Vertical City)จนกลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะของจีน

เพื่อมิให้การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้จะไม่ส่งผลเสียต่อเป้าหมายใหญ่ดังกล่าว หรือบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจีนและเซี่ยงไฮ้ในระยะยาว ผมจึงคาดว่า หลังเอาชนะวิกฤติโควิดครั้งนี้สำเร็จ รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุดหนุน SMEs ในเซี่ยงไฮ้และหัวเมืองอื่นในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีโดยเร็ว

ด้วยความใหญ่และความพร้อมที่มีอยู่ เซี่ยงไฮ้เหมาะสมในการถูกใช้เป็นกลไกหลักในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งปีหลัง และเตรียมตัวรับงานใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้และเป้าหมายอื่นในระยะยาว

เพราะนอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่หังโจวในเดือนกันยายน และการเป็นเจ้าภาพ WorldSkillsCompetition ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนตุลาคม ซึ่งเลื่อนการจัดจากปีก่อนมาแล้ว 

อีกงานใหญ่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่มีวาระการรับรองคณะผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ณ กรุงปักกิ่ง

มาถึงตรงนี้แล้ว เราคงต้องลุ้นและเอาใจช่วยให้เซี่ยงไฮ้หลุดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ระลอกนี้ให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดการสูญเสียและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของตลาดให้กลับคืนมา เพื่อเปลี่ยนเซี่ยงไฮ้ให้เป็นพลังทางเศรษฐกิจของจีน และของโลกในที่สุด...


ภาพจาก AFP / reuters


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง