TNN online โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ผมนำเสนอใน 2 ตอนก่อนหน้านี้แล้ว เซี่ยงไฮ้ยังกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม” ของจีน และของโลกในระยะยาว 

แม้ว่าเรื่องนี้จะมาหลังสุด แต่ดูจะมาแรงสุดๆ เช่นกัน เราไปดูกันว่า เซี่ยงไฮ้วางแผนจะทำอะไรและอย่างไรบ้างเพื่อให้วิสัยทัศน์นี้เกิดเป็นรูปธรรมในอนาคต ...

ในภาพใหญ่ นวัตกรรมถูกกำหนดให้เป็น “พระเอก” ที่จีนจะใช้สนับสนุนการพัฒนาทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับหนึ่งในยุคหน้า ถึงขนาดที่รัฐบาลจีนกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Development Strategies) 

เราจึงเห็นการจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาพื้นฐานและเชิงประยุกต์จำนวนมหาศาล โดยในแผน 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) จีนกำหนดสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ของจีดีพี พร้อมจะเพิ่มสิทธิประโยชน์และมาตรการจูงใจในระดับที่สูงขึ้นในปีนี้ อาทิ การหักลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล


โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ขณะที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องสำคัญ ก็ประกาศจะให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปี 2022 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ราว 4.2% ของจีดีพีเซี่ยงไฮ้ และยังจะกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่องและจะดำเนินต่อไปในอนาคต 

การสานต่อความเป็น “เมืองดิจิตัล” (Digital City) ของเซี่ยงไฮ้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคหลัง 5G เพื่อมุ่งหวังให้เซี่ยงไฮ้สามารถผนวกดิจิตัลเข้ากับเศรษฐกิจที่แท้จริงในระดับที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้ ในปี 2021 ผลผลิตของอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และบริการด้านไอทีมีมูลค่ากว่า 1.26 ล้านล้านหยวน ขยายตัวมากกว่า 15% ของปีก่อน และมีธุรกิจด้านข้อมูลหลักกว่า 1,000 ราย คิดเป็นมูลค่าผลผลิตมากกว่า 230,000 ล้านหยวน

โดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้นำเอาแอปจำนวนเกือบ 3,500 แอปใน 6,000 หมวดข้อมูลออกมาให้บริการสาธารณะ ในจำนวนนี้ 1,150 แอปถูกผนวกรวมเพื่อใช้ในระบบการจัดการชุมชนเมืองอัจฉริยะ สะท้อนว่าระบบนิเวศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสมัยใหม่ ครอบคลุมข้อมูลภาคการค้า การตรวจสอบ กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ได้ถูกพัฒนาขึ้นในพื้นที่


โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก Reuters

 

เซี่ยงไฮ้ยังประกาศเป้าหมายที่จะจัดตั้งแพล็ตฟอร์มหลักเพื่อรองรับนวัตกรรมและบริการด้านการผลิตไว้อย่างชัดเจน อาทิ การจัดตั้งแพล็ตฟอร์มสนับสนุนระบบดิจิตัลในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 30 แพล็ตฟอร์ม และผลักดันการนำร่องให้เกิดโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) อย่างน้อย 40 แห่งขึ้นในปีนี้ และจะขยายวงเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมไปถึงอุตสาหกรรมการเงินสีเขียว ยานยนต์ไร้คนขับ และอวกาศ

ผมยังแอบติดใจโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ การจัดตั้งบิ๊กดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติสำหรับเอกสารกำกับสินค้าและโกดังสินค้า ณ พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง (Lingang) ในเขตเมืองใหม่ผู่ตง (Pudong)

เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์ โลกการผลิตของจีนจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ การผลิตและจัดเก็บชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้าสำเร็จรูปของแต่ละหน่วยธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของจีนจะถูกรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ จีนจะรู้หมดว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้าสำเร็จรูปอยู่ที่ไหนบ้าง อย่างไร 

สินค้าจีนในอนาคตจะไม่ถูกผลิตเกินกว่าความต้องการที่ควรจะเป็น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการผลิตและการจัดเก็บสินค้า อันจะนำไปสู่การประหยัดในทรัพยากรและการสร้างประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ

เซี่ยงไฮ้ยังจะสานต่อนโยบาย “รวยไปด้วยกัน” สู่เมืองอื่นๆ อีกด้วย ในด้านหนึ่ง ฐานอุตสาหกรรมดั้งเดิมในบางพื้นที่ อาทิ เขตเป่าซาน (Baoshan) ซึ่งเดิมเป็นฐานการผลิตเหล็กและเคมี และก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก็ถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เป็นโครงการเมืองแฝดดิจิตัลที่ประกอบด้วยเมืองดิจิตัลหนานต้า (Nanda Digital City) และเมืองอัจฉริยะหวูซ่ง (Wusong Smart City)

ในอีกด้านหนึ่ง เซี่ยงไฮ้ยังจะเดินหน้าพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนา 5 เมืองใหม่รอบนอกในเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ เฟิงเสียน (Fengxian) เจียติ้ง (Jiading) ชิงผู่ (Qingpu) ซงเจียง (Songjiang) และหนานหุ่ย (Nanhui) เพื่อเป็นแหล่งใหม่ในการรองรับการลงทุนของกิจการข้ามชาติและกิจการชั้นนำของจีน สวนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น 


โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก Reuters

นอกจากนี้ กระบวนการปรับโครงสร้างด้านดิจิตัลยังจะขยายวงต่อไปถึงมิติด้านการตลาดและภาคประชาชน การส่งเสริมแพล็ตฟอร์ม ธุรกิจด้านดิจิตัล และผู้เล่นในตลาดจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เศรษฐกิจดิจิตัล บริการ และแอปที่เกี่ยวข้องจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตภาคประชาชนโดยรวมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ

ผมขอแวะไปพูดถึงการพัฒนาของเมืองหลิงกั่งหน่อย เพราะภายหลังการพัฒนาราว 15 ปี หลิงกั่งได้กลายเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สำคัญของจีนได้อย่างรวดเร็ว โดยในปีที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนนี้มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกที่ทำรายได้กว่า 100,000 ล้านหยวนเป็นแห่งแรกของจีน 

เราเห็นโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์มากมายในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC) เจ้าของแบรนด์ MG ของจีน และเทสล่า (Tesla) ค่ายอเมริกันที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ขณะที่ในปี 2022 ขนาดอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์คุณภาพสูงถูกตั้งเป้าว่าจะทะยานขึ้นแตะหลัก 100,000 ล้านยวน ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตวงจรรวม ยาชีวภาพ และปัญญาประดิษฐ์ จะขยายตัว 2 เท่าตัว

นอกจากนี้ หลิงกั่งยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ช่วยส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ของจีน ในด้านพาณิชย์นาวี หลิงกั่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ โดยเป็นเมืองปลายสุดด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ที่เชื่อมโยงกับท่าเรือหยางซาน ท่าเรือคอนเทนเนอร์กลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรายังเห็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยด้านพาณิชย์นาวี กิจการอู่เรือ และศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ของกิจการลอจิสติกส์ข้ามชาติในพื้นที่อีกด้วย



โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก Reuters

 


ขณะที่ในด้านการบินและอวกาศ หลิงกั่งก็เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานอวกาศที่สำคัญของจีน แถมเมื่อปีก่อนก็ยังมีการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองที่ใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่ามีกิจการของจีนและต่างชาติอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าคิวขยายการลงทุนเข้าไปในพื้นที่

ผมมั่นใจว่า หลิงกั่งจะเป็นคลัสเตอร์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่ที่สำคัญและโดดเด่นของจีนและของโลกในอนาคต จึงอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ให้ความสนใจเอาไว้บ้าง จะได้ไม่ตกขบวน

ในความพยายามที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม เซี่ยงไฮ้ก็จะเป็นพื้นที่นำร่องในการปฏิรูปและเปิดประเทศในเชิงกว้างและเชิงลึกที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการปรับปรุงระบบการจัดการเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมระยะ 3 ปี และระยะ 10 ปีของจีน

ในปี 2022 เซี่ยงไฮ้จะนำร่องการพัฒนา “สวนนวัตกรรมกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง” (SMEs Innovation Park) และผลักดันนวัตกรรมในเศรษฐกิจเอกชน โดยมุ่งเน้นการเพิ่ม SMEs จำนวน 500 รายที่เชี่ยวชาญในตลาดเฉพาะกลุ่ม

นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบนิเวศมีความพร้อมสรรพสำหรับสตาร์ตอัพอย่างแท้จริง เซี่ยงไฮ้ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมความทันสมัยด้านการศึกษา การสรรหาและบ่มเพาะผู้ที่มีพรสวรรค์ระดับสูง

ในอดีต เซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตผู่ตง ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่เริ่มทดลองใช้ระบบกรีนการ์ดของจีน เพื่อดึงดูดคนจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานในจีน



โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก Reuters

 


ปัจจุบัน เกือบทุกเมืองในเซี่ยงไฮ้ยังพร้อมสรรพไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เชื่อมโยงกับส่วนอื่นในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง รวมทั้งโครงการก่อสร้างที่พักราคาพิเศษ และสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดเด็กพรสวรรค์ให้ย้ายไปทำงานในพื้นที่

เซี่ยงไฮ้ยังมองไกลถึงการเป็น “ศูนย์กลางดิจิตัลโลก” (Global Digital Hub) ในอนาคต โดยประกาศเป้าหมายในระยะยาวไว้ในหลายส่วน อาทิ การจะเป็น “หัวหอก” ในการผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์โลก” ในปี 2030 และ “ผู้นำด้านนวัตกรรมโลก” ในปี 2050 

เซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้าคงเปลี่ยนโฉมไปอีกมาก เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า วิสัยทัศน์ของเซี่ยงไฮ้จะเป็นจริงมากน้อยขนาดไหน และมีส่วนในการผลักดันให้จีนทะยานขึ้นเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้จริงตามที่ฝันไว้หรือไม่ อย่างไร...





ภาพจาก Reuters


ข่าวแนะนำ