TNN online ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร (ตอนจบ )

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร (ตอนจบ )

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร  (ตอนจบ )

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

(ต่อ )นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนยังจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวอีก 15 แห่งคิดเป็นมูลค่ารวมอีกกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

เม็ดเงินดังกล่าวนับว่ามากอย่างที่ไม่มีประเทศใดทุ่มทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาก่อน และนี่ยังไม่นับรวมถึงเงินอุดหนุน การร่วมลงทุน และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวรวมอีกกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2020 จีนยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 10 ปี เฉพาะส่วนนี้ก็อาจมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าไปแล้ว

มาตรการส่งเสริมดังกล่าวทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี 2020 มีกิจการใหม่มากกว่า 22,800 รายจัดตั้งขึ้นในจีน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 200% เมื่อเทียบกับของปีก่อน 

ในจำนวนนี้ ราว 40 บริษัทลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์สตาร์ (STAR Board) ตลาดทุนแห่งใหม่ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งระดมทุนจากการทำไอพีโอคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 25,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) รัฐบาลจีนยังกำหนดให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อันดับต้นๆ โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนเพื่อบรรลุระดับการพึ่งพาด้านเทคโนโลยีของตนเองตามที่ตั้งเป้าไว้ 

การผลิตบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญ สถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้องอยู่ อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นเสมือน MIT ของจีน และมหาวิทยาลัยหวาจงแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Huazhong University of Science and Technology) ในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย 

โดยที่ภาคการผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต บุคลากรในด้านนี้จึงเป็นที่ต้องการและได้รับรายได้สูงในจีน จากสถิติพบว่า บัณฑิตในด้านนี้มีรายได้เฉลี่ยราว 350,000 หยวนต่อปี สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนถึง 10 เท่าตัว และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% ต่อปี
ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร  (ตอนจบ )

ยิ่งหากเป็นบัณฑิตชั้นหัวกระทิจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนด้วยแล้ว ก็อาจถูกแย่งชิงตัวโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Huawei ด้วยข้อเสนอผลตอบแทนถึงราว 2 ล้านหยวนต่อปีกันเลยทีเดียว

เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ของต่างประเทศในอนาคต รัฐบาลจีนจึงพยายามเพิ่มกำลังการผลิตชิปคุณภาพขึ้นภายในประเทศ โดยได้ผลักดันให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนเปิดวิทยาลัยด้านเซมิคอนดักเตอร์และสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรในด้านนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต อาทิ วิศวกรและช่างเทคนิคในด้านชิป 

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งก็มองการณ์ไกลถึงขนาดวางแผนสร้าง “ชุมชนนวัตกรรม” (Innovative Community) เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกิจการในด้านนี้ของจีนเข้ากับบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยผลิตและพัฒนาขึ้น เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ “สมองไหล” ไปยังต่างประเทศ

ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเซินเจิ้น (Shenzhen Technology University) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 ก็แจ้งผลความคืบหน้าในการพัฒนาความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง Semiconductor Manufacturing International Corporation) ซึ่งเป็นโรงหล่อที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ ในการขยายหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ในเมืองเซินเจิ้น

พูดถึง SMIC ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงปักกิ่งแล้ว ผมขอขยายข่าวดังในวงการอีกเรื่องหนึ่ง ในระยะหลัง เราได้รับทราบกระแสข่าวว่า SMIC ได้กว้านซื้อตัววิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชิปจากไต้หวันและฮ่องกงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Ltd.  หรือที่เราเรียกกันติดปากในตัวย่อว่า “STMC” ผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลก 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มาถึงวันนี้ SMIC ดูดคนจาก STMC จากไต้หวันเป็นพันรายแล้ว โดยจูงใจด้วยการให้ค่าตอบแทนสูงถึง 2-3 เท่าตัว และยังจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวของวิศวกรเหล่านั้น อาทิ ที่พัก และโรงเรียนนานาชาติให้กับลูกหลานบุคลากรกลุ่มนี้ 

กลายเป็นว่าวันนี้อาการ “สมองไหล” ที่จีนแผ่นดินใหญ่เคยประสบอยู่กำลังพลิกฟื้นดีขึ้น โดยดึงดูดบุคลากรชั้นดีเพียงข้ามช่องแคบไต้หวันเท่านั้นเอง แถมยังไม่ต้องเสียเวลาปรับจูนเพื่อลดปัญหา “ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม” อีกด้วย ไม่รู้ว่างานนี้จะทำให้ชาติตะวันตกเข้าใจลึกซึ้งในคำกล่าวที่ว่า “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ” หรือไม่

มองออกไปในอนาคต หากการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในภาพรวมของจีนยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจจะเสียเค้กก้อนใหญ่นี้ให้กับจีนได้เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ แสดงความกังวลใจในช่วงหลายปีหลัง และมา “แตกโพละ” ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศเดินหน้าท้ารบกับจีนอย่างจริงจัง ทั้งในสนามการค้าและเทคโนโลยี ความสำคัญและความรุนแรงของปัญหามีอยู่สูงถึงขนาดว่า โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันก็ยังคงสานต่อนโยบายและมาตรการกีดกันดังกล่าวไว้

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร  (ตอนจบ )

สหรัฐฯ และพันธมิตรประเมินว่า แม้ว่าจีนจะยังคงเป็นผู้ตามในวงการนี้ แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ การเป็นโรงงานของโลก และการมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นับเป็นความได้เปรียบเหนือกว่าของแหล่งผลิตอื่น

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ นโยบาย และมาตรการส่งเสริมของภาครัฐยังนำไปสู่การขยายตัวของลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในจีน ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานนี้ของจีนแข็งแกร่ง และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งตลาดคอนซูมเมอร์และอุตสาหกรรม

ประการสำคัญก็คือ แหล่งข่าวในจีนเปิดเผยว่า จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปมาโดยลำดับ ยกตัวอย่างเช่น ในอดีต การผลิตชิปล็อคจิก (Logic Chip) ของจีนที่เคยทำได้ในขนาด 12 นาโนขึ้นไป ซึ่งทำให้ต้องพึ่งพาชิปขนาดไม่เกิน 10 นาโนของเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ในปี 2021 ความสามารถในการผลิตชิปของจีนได้ก้าวขึ้นทาบชั้นผู้นำโลกที่ระดับ 7 นาโนแล้ว 

แถมล่าสุดก็มีข่าวว่า จีนสามารถออกแบบชิปคุณภาพขนาด 3 นาโนได้แล้ว แต่ไม่มีเครื่องมือผลิตซึ่งมีเพียงเนเธอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าของเครื่องผลิตนี้

ในชั้นนี้ จีนยังไม่สามารถบรรลุความตกลงกับยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนเธอร์แลนด์ได้ ข้อมูลวงในแจ้งว่า เนเธอร์แลนด์ยังปฏิเสธการขายเครื่องผลิตให้จีน เพราะเนเธอร์แลนด์มีสนธิสัญญาความมั่นคงกับสหรัฐฯ และโดนสหรัฐฯ บีบไม่ให้ขายค้ำคออยู่ 

จีนจึงต้องหันไปพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปโดยใช้คาร์บอนเป็นพื้นฐานในการผลิต และจะเร่งพัฒนาเครื่องผลิตขึ้นเอง โดยตั้งเป้าผลิตชิปคุณภาพขนาดเล็กสำเร็จในปี 2030

ที่สำคัญอีกประการก็คือ ผู้ผลิตในจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของคู่แข่งขันในตลาดโลก การวิจัยของบอสตันคอนซัลแทนต์กรุ๊ป (Boston Consultant Group) ระบุว่า ผู้ผลิตจีนมีความได้เปรียบด้านราคาเหนือของสหรัฐฯ อยู่ถึงราว 30-40% ขึ้นอยู่กับประเภทของชิป

มาถึงวันนี้ ชิปของจีนได้พัฒนาจนมีคุณภาพดี และราคาถูก “ทั้งถูก ทั้งดี” แล้ว นั่นหมายความว่า ภายใต้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความเป็นมาตรฐานในระดับโลก หากจีนมีอุปทานส่วนเกินของชิปที่ผลิตขึ้น และการค้าไม่โดนบีบให้ “แยกขั้ว” จากเทควอร์ในอนาคต จีนก็จะสามารถผลักดันสินค้าเหล่านั้นออกไปแย่งชิงตลาดต่างประเทศได้ไม่ยากนัก

จากเดิมที่หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจกลัวแรงกดดัน และทำทุกวิถีทางเพื่อชะลอ “การแยกขั้ว” แต่ใช่ว่าความพยายามของจีนในการพัฒนาสู่จุดที่พึ่งพาตนเองได้จะราบรื่น เพราะจีนยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำสมัยจากต่างประเทศ

แต่หากจีนสามารถขยายกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงของตนเองได้ทัดเทียมของผู้นำได้ จีนก็อาจเป็น “รุกคืบ” แย่งตลาดและสั่นคลอนสถานะผู้นำในวงการเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรในตลาดโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีคนพูดกันว่า ช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมโลกอย่างแท้จริง 

เราคงมีอีกประเด็นให้ติดตามลุ้นกันอย่างใกล้ชิดว่า ดราก้อนชิปจะก้าวขึ้นครองโลกได้หรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร ...

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ