เรียกร้องกนง.ลดดอกเบี้ย แก้บาทแข็งเร็ว 3 เดือนแข็งร้อยละ 10
หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมภาคเอกชน เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว หลังในช่วง 3 เดือนแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 10 กระทบส่งออกและท่องเที่ยว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นร้อยละ 8-10 อย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาทบวกลบ (เช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตและ/อาหารไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท
และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูงขึ้น และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติและอาจเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่าแทน
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 0.5 ของ GDP ดังนั้น ค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยโดยทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1) ขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10 % ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า
2) การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม
ดังนั้น หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ นั้นก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลค่าเงินบาทไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยมองค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ บวก/ลบ
นอกจากนี้ หอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามาในประเทศ สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยส่วนนี้ได้มีการหารือและอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยในการติดตามดูแลสินค้าไทย-จีน และจัดทำโครงสร้างการค้าที่เป็นธรรมทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ร้อยละ 0.50 นั้น หอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราวร้อยละ 3.8-4.3 โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.2 - 0.3 และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 2.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 2.6-2.8
ข่าวแนะนำ