TNN BA ทุ่มงบลงทุน 2,300 ล้านบาท ขยายสนามบินดันรายได้

TNN

รายการ TNN

BA ทุ่มงบลงทุน 2,300 ล้านบาท ขยายสนามบินดันรายได้

ฺBA ทุ่ม 1,500 ล้านบาท ขยายสนามบินสมุย รับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หลังยอดจองตั๋วล้นถึงไตรมาสแรกปีหน้า และขยายสนามบินตราดด้วยงบ 800 ล้านบาท ดันไทยฮับการท่องเที่ยว

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินสมุยเพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินระหว่างสนามบินสมุยไปยังหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ โดยมีแผนการเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยจากวันละ 50 เที่ยวบิน เพิ่มเป็นเป็น 73 เที่ยวบิน เพื่อผลักดันอ่าวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) แห่งหนึ่งของภูมิภาค


นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร เพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์เช็คอินอีก 10 เคาน์เตอร์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยจะติดตั้งระบบ CUSS : Common Use Self-Service รวมถึงสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มจาก 1,800 ตร.ม. เป็น 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการสำหรับร้านค้าชั้นนำ สินค้าของฝากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงร้านนวดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น


นายพุฒิพงศ์ คาดว่า แผนขยายศักยภาพสนามบินสมุยจะเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี ใช้งบลงทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1- ไตรมาส 2 ปี 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2570 โดยประเมินว่าช่วงนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่ 2 ล้านคนต่อปี


นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทมีแผนจะเสริมศักยภาพสนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 3 ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทฯ โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารและขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับเครื่องบินประเภทไอพ่นขนาดเล็ก จากเดิม 1,800 เมตร เพิ่มเป็น 2,100 เมตร ด้วยงบลงทุนราว 800 ล้านบาท


บริษัทยังเดินหน้าเชื่อมโยงสายการบินพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ปัจจุบันมีพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare รวมทั้งสิ้น 30 สายการบิน ล่าสุด ได้แก่ ลุฟท์ฮันซ่า และสวิสอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ เมื่อรวมกับ ออสเตรียนแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นพันธมิตร Codeshare ตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าบริษัทมีสายการบินพันธมิตรที่อยู่ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa Group) ถึง 3 สาย 


พร้อมทั้งมีพันธมิตรสายการบินข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Interline มากกว่า 70 สายการบิน โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ  คาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 2 ลำ และบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะออกร่างข้อเสนอ (RFP) เพื่อที่จะทำการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทฝูงบินในอนาคตอีกด้วย


สำหรับแนวโน้มท่องเที่ยวเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง คุณพุฒิพงศ์ มองว่า บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจโดยมีปัจจัยจากสถิติการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าของบางกอกแอร์เวย์สที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการเติบโตกว่า ร้อยละ 12 จากปี 2566 ซึ่งมีการจองต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 


โดยเฉพาะเส้นทางสมุย เป็นเส้นทางสำคัญที่ทำรายได้ให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยในครึ่งปีแรกของปี นี้มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมทุกสายการบิน และบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณร้อยละ 70 และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณร้อยละ 60


ทั้งนี้ จากภาพรวมของทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นบวกได้ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีนี้การขนส่งผู้โดยสารสูงขึ้นร้อยละ 11 ขณะที่ปริมาณการบรรทุก (Load Factor) เท่ากับนี้ร้อยละ 83 ดีขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงก่อนโควิด ซึ่งบริษัทมั่นใจสำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานตลอดปีนี้  คือ มีรายได้กลับไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ของรายได้ในปี 2562 คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน Load Factor เฉลี่ยร้อยละ 85 จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท 

 

ข่าวแนะนำ