เงินบาทแข็งรอบกว่ารอบ 1 ปี หลุด 34 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี หลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ระยะถัดไปยังอยู่ในทิศทางที่แข็งค่าต่อ แต่การแข็งค่าอาจชะลอลง จับตาเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้า
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน ที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวที่ระดับประมาณ 33.95-33.97 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ ( ณ เวลา 10.35 น.) จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ รับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือนก.ย.นี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เคยประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 33.90-34.27 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) จากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ล่าสุด ที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะเร่งลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อประคองไม่ให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และโดยรวมผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราวร้อยละ 1 ในปีนี้ และอีกราวร้อยละ 1.25 ในปีหน้า
สำหรับ นายพูน มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่จะแข็งค่าชะลอลง หลังระดับเงินบาท ณ ปัจจุบัน ได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทเช่นกัน
โดยคาดเงินบาทจะมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังแข็งค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนโซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นบ้านเราเริ่มมีวอลลุ่มการเทรดที่เพิ่มขึ้นจากการเมืองที่นิ่งมีเสถียรภาพ ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าเชื่อว่าการขึ้นลงเป็นเรื่องเรื่องธรรมชาติ เมื่อตลาดปรับสมดุลก็จะสอดคล้องกับพื้นฐานประเทศเอง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ดูแลนโยบายการเงินอย่างธนาคารมีการดูแลอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่ากระทบการส่งออกที่ไทยเราเคยได้อานิสงส์บ้าง แต่คงไม่กระทบจนทำให้ GDP ปีนี้ที่คาดไว้เติบโตน้อยลง
"บาทแข็งเป็นธรรมชาติค้าบ อนเราอยู่ 33 บาทขึ้นไป 36-37 บาท ก็บอกเราอ่อนเร็วมาก อะไรที่มันขึ้นไปเวลาอ่อนลงมันก็เป็นธรรมชาติของมัน ซึ่งการลงก็มีคำอธิบายไม่ใช่ลงโดยไม่มีสาเหตุ มันเป็นทิศทางของเศรษฐกิจโลก เป็นทิศทางของนโยบายการเงินโลก ทุกคนก็สื่อความภาษาคำพูดภาษาอะไรก็ชัดเจน นักลงทุนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรืออะไรก็เข้าใจหมด ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศดูแลประเด็นนโยบายการเงินและค่าเงินบาทอยู่แล้ว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะแข็งค่า แต่ต่างชาติยังเข้ามาลงทุนโดยตรงที่ไทยต่อเนื่อง ล่าสุด บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่ของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (WD) มูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท เพื่อขยายฐานผลิต Hard Disk Drive ที่อยุธยาและปราจีนบุรี สะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยีคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งไทยยังเป็นผู้นำฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ระดับโลก