หุงข้าวในบ้องไผ่ ภูมิปัญญาชาวโตนปาหนัน | เรื่องดีดีทั่วไทย
พาไปชมภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาอย่างยาวนานของชาวสตูล กับการหุงข้าวใบยี่เร็ดบ้องไผ่ สามารถเก็บได้นานถึง 3 วัน โดยไม่บูดเสีย
พามาชมวิถีบ้านๆของชาวตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง มีชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า "บ้านโตนปาหนัน" ที่นี่ชาวบ้านดำรงชีวิตด้วยวิถีดั้งเดิม หนึ่งในนั้นก็คือ การหุงข้าวใบยี่เร็ดบ้องไผ่ ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ภูมิปัญญาการหุงข้าวด้วย 'ใบยี่เร็ด' หรือที่เรียกอีกชื่อว่า "ใบเหร็ด"มีที่มาจากสมัยก่อน เมื่อชาวบ้านออกไปหาของป่า พวกเขาจะพกแค่ข้าวสารติดตัวไป แล้วใช้ใบยี่เร็ดที่ขึ้นตามป่ามาห่อข้าว แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่แทนหม้อหุงข้าว
วิธีการก็จะใช้ใบยี่เหร็ด พลิกเอาด้านหลังขึ้นใส่ข้าวที่ซาวแล้วลงไปเล็กน้อย แล้วก็ห่อประกบกันคล้ายๆ ข้าวต้มมัด
จากนั้นนำไปใส่ในกระบอกไม้ไผ่ โดยเลือกไม้ไผ่ลำที่มีความยาวและเหนียว เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกมาได้ แล้วใส่น้ำจนเต็มกระบอกและนำไปตั้งไฟจนเดือด เมื่อน้ำเดือดแล้วให้เทน้ำในกระบอกไม้ไผ่ออก แล้วนำไปเผาไฟอีกรอบให้แห้ง ก็ถือว่าใช้ได้
ซึ่งการนำข้าวห่อใบเหร็ดออกมาต้องใช้วิธีผ่ากระบอกไม้ไผ่สถานเดียว พอจะทานก็คลี่ใบเร็ดออก จะพบกับข้าวสวยร้อน ๆ ที่หอมกรุ่นด้วยกลิ่นของใบเร็ด ทานกับอะไรก็อร่อย
วิธีการนี้แม้จะใช้เวลานานถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งเพราะสามารถเก็บข้าวไว้ได้นานถึง 3 วันโดยไม่บูดเสีย
ด้านนายยุทธนา มาลินี ประธานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านโตนปาหนัน กล่าวว่า ด้วยความพิเศษนี้เอง ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน ยังคงอนุรักษ์และสืบทอดวิธีการหุงข้าวด้วยใบยี่เร็ดมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นไฮไลท์สำคัญของการท่องเที่ยวชุมชน ควบคู่ไปกับ 'โกปี้บ้านโตน' เครื่องดื่มขึ้นชื่อของที่นี่
สำหรับผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตและลิ้มลองอาหารพื้นบ้านที่บ้านโตนปาหนัน จ.สตูล ติดต่อได้ที่ คุณยุทธนา มาลินี โทร.087-298-9936