TNN อันดับฮับการเงินกรุงเทพฯของไทยพ่ายกัวลาลัมเปอร์ของมาเลย์

TNN

รายการ TNN

อันดับฮับการเงินกรุงเทพฯของไทยพ่ายกัวลาลัมเปอร์ของมาเลย์

เปิดอันดับฮับการเงินของไทยเทียบคู่แข่งในอาเซียน พบปีนี้อันดับดิ่งลงจากช่วงก่อนโควิดเกือบเท่าตัว สาเหตุจากกระแสเงินทุนไหลออก ขาดการพัฒนาระบบต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกภายใต้โครงการ Ignite Finance ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมบริการการเงิน การลงทุนที่มีมูลค่าสูง ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของไทยสูงขึ้นในอนาคต 


รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทยใฟ้ความเห็นว่าหากเราต้องการให้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกอาจต้องมียุทธศาสตร์และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแต่จะเป็นประโยชน์แน่นอน การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก เราต้องทำให้อันดับ Global Financial Centers Index ของกรุงเทพฯมาอยู่ที่ 20 อันดับแรกเป็นอย่างน้อยขณะนี้“กรุงเทพฯ”อยู่อันดับที่ 93 ในปี 2567 เมื่อ 5 ปีที่แล้วหรือปี 2562ก่อนโควิด ประเทศไทยเคยอยู่อันดับที่ 50 และดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากเงินทุนไหลออกและขาดการพัฒนาระบบต่างๆ ความไม่โปร่งใสของบริษัทจดทะเบียน การฉ้อโกงนักลงทุนของผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์ และ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินไม่ดึงดูดต่อการลงทุนและการประกอบกิจการบริการทางการเงินและการธนาคาร สถาบันการเงินระดับโลกบางแห่งขายธุรกิจให้กับธนาคารในระดับภูมิภาคการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกของไทยต้องแข่งขันกับศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคเอเชียให้ได้เสียก่อน


ขณะที่เมื่อเทียบชาติในเอเชียและอาเซียนพบว่าปีนี้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 3 ของโลกรองจากนิวยกอร์กและลอนดอน ส่วนฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 4 ของโลก เซี่ยงไฮ้ อยู่ในอันดับ 6 และ กรุงโซล  อันดับ 10 ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของโลก หรือ ในอาเซียน กรุงเทพฯ ต้องเอาชนะ กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 77 ให้ได้เสียก่อน ส่วนชาติอาเซียนที่ยังตามหลังไทยมี มะนิลา อยู่อันดับ 101  จาการ์ตา อยู่อันดับ 102 และโฮ จิมินห์ ซิตี้  อยู่อันดับ  108



การมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกต้องมาพร้อมกับความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆจึงทำให้ สถานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินมีความยั่งยืนเช่นเดียวกับ ศูนย์กลางทางการเงินอย่าง นิวยอร์ก และ ลอนดอน ความทะเยอทะยานสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกทางด้านเศรษฐกิจและการเงินเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินการสู่เป้าหมายต้องใช้เวลา ต้องมีความมุ่งมั่น ทำอย่างต่อเนื่องและต้องมีการสานต่อจากรัฐบาลในอนาคต บางทีอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี เช่นสิงคโปร์ใช้เวลากว่า 58 ปีนับจากได้เอกราชจากประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอันดับ 3 และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “สิงคโปร์” ก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วอายุคนซึ่งถือว่าสิงคโปร์ใช้เวลาสั้นกว่า นิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง ในการก้าวสู่ 1 ใน 4 ของศูนย์กลางการเงินโลก โดยปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการบริหารสินทรัพย์จากทั่วโลก (Global Asset Management Hub) เป็นประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำและมาตรฐานธรรมาภิบาล การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากลทำให้ปีนี้ “สิงคโปร์” เบียด “ฮ่องกง” มาเป็นอันดับสามส่นหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาแทรกแซงการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของรัฐบาลปักกิ่งและปัญหาทางการเมืองในฮ่องกง ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มทุนการเงินจาก “ฮ่องกง” มายัง “สิงคโปร์” และ “สิงคโปร์” ยังมีวางฐานะทางยุทธศาสตร์ในการเป็นประตูสู่การลงทุนในอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโตระดับต้นๆของโลก

                                                   

สำหรับความท้าทายของไทยในการนำพา “กรุงเทพ” สู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ประการแรกคือ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงินและการลงทุนหรือไม่ สะท้อนมาที่ดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะในมุมของนักลงทุนมักให้ความสำคัญอัตราภาษีที่ต่ำ ไม่ซ้ำซ้อนและต้นทุนต่ำ ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร แต่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองไม่ดีนัก มีรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่เป็นไปตามวาระและวิถีทางประชาธิปไตยบ่อยครั้ง ประการที่สอง คือระดับการเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุนอยู่ที่ระดับไหน  กรุงเทพฯมีระดับการเปิดเสรีภาคการเงินไม่สูงเท่ากับสิงคโปร์ ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน ซานฟานซิสโก ชิคาโก บอสตัน ลอสแองเจลีส  เวียนนา มิลาน ปารีส หรือ หมู่เกาะอย่างเคย์แมน บริติชเวอร์จินแต่ไทยมีระดับการเปิดเสรีในระดับที่พัฒนาต่อยอดได้


ประการที่สามคือความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงิน ประเทศไทยมีความพร้อมในระดับปานกลาง ยังต้องพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติมอีกมาก ประการที่สี่คือความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เกี่ยวข้องกับวางระบบกฎหมาย การที่กระทรวงการคลังจะมีแผนในการจัดทำกฎหมายทางการเงินใหม่ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคต การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม ไอทีและเทคโนโลยีสารสนเทศถือว่ามีความสำคัญมากในระบบการเงินและการลงทุนแบบดิจิทัล ประการที่ห้า คือ ระบบความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการและระบบความมั่นคงปลอดภยบทางไซเบอร์และธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ประการที่หก การกำกับดูแล ความมีธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ความคงเส้นคงวาและคาดการณ์ได้ของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงินนโยบายการเงินและนโยบายการลงทุน



อย่างไรก็ตามควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคด้วยการเปิดเสรีทางการเงินช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี  2540 ให้ดีด้วยว่า ทำไมมาตรการ BIBF จึงสะดุดและยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินตัวและธุรกรรมเก็งกำไรเกินขนาดในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์จนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจทั้งภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์การเปิดเสรีการเงินความเปราะบางของสถาบันการเงินการโจมตีค่าเงินบาทรวมทั้งจุดอ่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย


ข่าวแนะนำ