เงินดิจิทัล 4.5 แสนล้านบาท กระตุ้นใช้จ่าย ดึงความเชื่อมั่น
รัฐบาลพยายามเร่งรัดโครงการเงินดิจิทัล ล่าสุดเตรียมเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนในวันที่ 1 ส.ค.นี้
ในช่วงเดือนก.ค.นี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล มีมติปรับลดวงเงินโครงการเหลือเพียง 450,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิมที่เคยประกาศไว้ที่ 5 แสนล้านบาท
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล ระบุว่า สำนักงบประมาณและกระทรวงคลังมีข้อเสนอให้ใช้กระบวนการในการบริหารงบประมาณ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เดิมจะนำมาใช้ 172,000ล้านบาท
สำหรับการใช้เงินงบประมาณมีข้อดีคือ หากต้องใช้เงินในโครงการน้อยกว่าที่ตั้งไว้ก็นำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ในโครงการอื่นที่เป็นการพัฒนา หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศได้ แต่หากต้องใช้เงินมากกว่าที่ตั้งไว้ ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการงบฯ เอาเงินมาเติม
สำหรับแหล่งเงิน 450,000 มาจากงบประมาณปี 2567 และปี 2568 แบ่งเป็น
1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท
2.การบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 วงเงิน 43,000 ล้านบาท
3.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
4.การบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลางฯ และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท
สำหรับ ไทม์ไลน์ การจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ยังคงมีกำหนดเดิม โดยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 เริ่มลงทะเบียนประชาชนและร้านค้า ล่าสุดนายกฯ เศรษฐา ระบุว่าจะเริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคมนี้
คาดหว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 เงินกระจายถึงมือประชาชน และสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ทันที
สำหรับเงื่อนไข คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิ์ได้รับ เงินดิจิทัล ต ยังยึดตามเดิม ได้แก่
สัญชาติไทย เกณฑ์อายุ 16 ปี ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567
เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567
รายได้ไม่เกิน 840,000 แสนบาท ใช้เกณฑ์ข้อมูลรายได้ภาษีย้อนหลัง ปีภาษี 2566
ข้อกำหนดในการใช้จ่าย ประกอบด้วย ใช้จ่ายภายในอำเภอ / ใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน /คาดใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ เชื่อมกับธนาคารอื่นๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ซื้อสินค้าผลิตภายในประเทศ ร้านค้าขนาดเล็ก โดยสามารถซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคและบริโภคได้เท่านั้น
ส่วนสินค้า ที่ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัล ซื้อได้ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์/ ยาสูบ บุหรี่ กัญชา กระท่อม/ซื้อของออนไลน์/ บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร อัญมณี หรือเครื่องประดับ /ชำระหนี้สิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอม /ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ /เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร อาทิ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน
สำหรับร้านค้าที่จะร่วมโครงการเงินดิจิทัล ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีเป้าหมายให้ร้านค้าขนาดเล็กมาร่วมโครงการ คาดว่าจะมีร้านค้ามาร่วม 1.4-1.5 ล้านราย( หนึ่งล้านสี่แสนราย ถึง หนึ่งล้านห้าแสนราย) แบ่งเป็น
-ร้านค้าที่มีข้อมูลในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา 9.1 แสนราย (เก้าแสนหนึ่งหมื่นราย)
-ร้านธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า 1.5 แสนราย (หนึ่งแสนห้าหมื่นราย)
-ร้านค้าโชห่วย หาบเร่แผงลอย ตลาดนัด ของกระทรวงมหาดไทย 4 แสนราย
-กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9 หมื่นราย
สำหรับการลงทะเบียน ต้องใช้เลขบัตรประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล และต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ มีสถานที่ตั้งร้านค้า
มีรูปถ่ายร้านค้า รวมถึงต้องระบุประเภทสินค้าด้วย
เปิดให้ลงทะเบียนได้ 2 ช่องทาง คือ
1.ช่องทางออฟไลน์คือ ธนาคารของรัฐ / ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม / สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร / อบต. / อบจ.
2.ช่องทางออนไลน์คือ แอปพลิเคชันทางรัฐ ที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา
สำหรับร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นแฟรนไชส์ สามารถเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัลได้
ส่วนร้านค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ คือ ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต
เงินดิจิทัลที่กำลังออกมา น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ดีพอควร จากขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคพบว่าต่ำลงมาก “ดัชนีความเชื่อมั่นประจำเดือนมิ.ย. 2567 ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอยู่ที่ระดับ 58.9 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน ต.ค.66 เป็นต้นมา”
“สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลง มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ
1. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ประปา ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับรายจ่าย
2.กำลังซื้อหดตัว จากผลของรายจ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น รายได้ไม่พอ และภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
3.การเมืองไม่นิ่ง โดยมีความกังวลกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีสถานภาพของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แม้ว่ายังไม่มีคำวินิจฉัย เพราะจะมีผลต่อการดำเนินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากมีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเงินดิจิทัล หรือนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น และระมัดระวังการใช้จ่าย”
นอกจาก 3 ปัจจัยสำคัญดังกล่าวแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอีก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐไทยที่ชะลอตัวและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาการสู้รบในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ถ้าดูทิศทางความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ดูจากการซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ที่ลดลงมาก 1-2 เดือนนี้
ดังนั้นคาดว่าหากเงินดิจิทัลที่กำลังออกมาน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และเศรษฐกิจไทย ให้ดีขึ้นได้
ข่าวแนะนำ