TNN online (คลิป) "กะเพราอวกาศ"ครั้งแรกของโลก ต่อยอดอาหารนักบินอวกาศ

TNN ONLINE

รายการ TNN

(คลิป) "กะเพราอวกาศ"ครั้งแรกของโลก ต่อยอดอาหารนักบินอวกาศ

(คลิป) กะเพราอวกาศครั้งแรกของโลก ต่อยอดอาหารนักบินอวกาศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า เผยภาพคลิปส่ง "ผัดกะเพรา" หรือ กะเพราอวกาศ ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วย บอลลูน High-altitude พร้อมติดตั้งเครื่องระบุพิกัด GPS จากดาวเทียม และพบว่ากะเพราอวกาศนี้ลอยไปได้สูงที่สุด 35 กิโลเมตร ที่ชั้นบรรยากาศโลก


สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า( GISTDA) เผยภาพคลิปเต็มหลังทดลองร่วมกับทีมงานรายการ Retired working for you กับการส่ง "ผัดกะเพรา" ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วย บอลลูน High-altitude ซึ่งเป็นบอลลูนขนาดใหญ่ที่จะลอยไปถึงระดับความสูงที่มีบรรยากาศรอบข้างใกล้เคียงกับสภาวะอวกาศ เพื่อทดสอบและศึกษาว่า “ผัดกะเพรา” จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่ หลังจากทดลองส่งไปเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้แก่ประเทศต่อไปในอนาคต  รวมไปถึงการต่อยอดอาหารสำหรับนักบินอวกาศ 


ข้อมูลจากจิสด้ายังระบุอีกว่า  การทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแล็บหรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก 


การทดลองแยกเป็น โมดูลซ้ายและขวา ซ้ายเป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาว บรรจุใส่จานโฟมหุ้มด้วยฟิล์มห่อหุ้มอาหาร// และขวาเป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใส่อาหาร พร้อมติดตั้งเครื่องระบุพิกัด GPS จากดาวเทียม  ตั้งฐานปล่อย ที่ สนามบอล บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ปล่อยให้ขึ้นสู่ชั้นอวกาศ  และพบว่ากะเพราอวกาศนี้ลอยไปได้สูงที่สุด 35 กิโลเมตร หรืออยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกที่ชั้น สตราโทสเฟียร์ หรือ ชั้นที่ 2 จากทั้งหมด 5 ชั้นบรรยากาศ โดยชั้น สตราโทสเฟียร์ ที่เป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ มักใช้ในการเดินทางทางอวกาศ ซึ่งก็คือ การเดินทางโดยใช้เครื่องบิน   

ข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวทั้ง 2 ภาชนะบรรจุ จะลอยขึ้นสู่ขอบอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำสุด -20 ถึง -40 องศาเซลเซียส เพื่อทดสอบเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของอาหาร  โดยกะเพราที่พบนั้นเหลือเพียงกะเพราในกล่องด้านซ้าาย  แต่ในจานด้านขวากะเพราหายไป เจออยู่ห่างจากจุดที่ GPS จับได้ ประมาณ 200 เมตร ในพื้นที่ ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย 


การทดสอบครั้งนี้จะทำให้ทราบว่า  หลังจากขึ้นไปบนอวกาศแล้วกะเพรามีลักษณะคงเดิมหรือไม่ และเพื่อพัฒนาศักยภาพไปเป็นอาหาร สำหรับนักบินอวกาศ เนื่องจากข้าวผัดกะเพราเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทย และเป็นเมนูที่รู้จักกันไปทั่วโลก


การศึกษาในครั้งนี้ นอกจากจะใช้อาหารในการทดสอบแล้ว ยังสามารถนำงานด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองได้ด้วย อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก และอาจจะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆ ของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น แต่อาจพัฒนาไปถึงการทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ หรือเรียกว่า “เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงเศรษฐกิจและยกระดับการรับรู้ของสังคมให้รับรู้ว่าการทดลองงานวิจัยด้านอวกาศ การทดลองในเทคโนโลยีอวกาศ ที่เป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง