สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี เปิด 5 กลอุบายมุกคอลเซนเตอร์ โจรไซเบอร์ใช้หลอกประจำ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี เปิด 5 กลอุบายมุกคอลเซนเตอร์ โจรไซเบอร์ใช้หลอกประจำ ย้ำต้องมีสติทุกขณะ พร้อมจับมือสานต่อโครงการ "ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง" ต่อเนื่อ
1. แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่งพัสดุข้ามประเทศ เช่น DHL หรือ FedEx หลอกว่ามีพัสดุถูกอายัดไว้ที่ด่านของกรมศุลกากร เนื่องจากพบว่ามีสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นจะให้ผู้เสียหายติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม เพื่อทำการตรวจสอบบัญชี หรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ
2. แอบอ้างเป็นข้าราชการ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต เป็นต้น เพื่อหลอกผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือ ฟอกเงิน จากนั้นจะหลอกให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ
3. แอบอ้างว่าผู้เสียหายเปิดบัญชีธนาคาร หรือ บัญชีม้า ให้คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด และจะให้ผู้เสียหายโอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดเพื่อมาตรวจสอบ
4. แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อหลอกผู้เสียหายว่า ค้างชำระค่าบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากนั้นจะหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินชำระค่าบัตรเครดิตให้กับคนร้ายทันที
5. แอบอ้างเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือของตัวเองค้างค่าชำระ หรือ ถูกร้องเรียนเป็นจำนวนมาก หรือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรม และจะต้องถูกปิดเบอร์ภายใน 2 ชั่วโมง จากนั้นจะให้ผู้เสียหายติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ
ซึ่งหากได้รับสายโทรศัพท์ในลักษณะเหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อน และเมื่อปลายสายแจ้งให้โอนเงิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และอย่าโอนเงินโดยเด็ดขาด
โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักมีกลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. กลุ่มคนยากจนที่อยากมีฐานะทางการเงินที่ดี หรือ คนตกงานที่กำลังมองหางาน 2. คนมีฐานะ มีเงินเก็บ อยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยติดตามข่าวสาร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จำกัดเพศ วัย และการศึกษา โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้มักจะมีกลุ่มนายทุนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและทำเป็นกระบวนการ มีการแบ่งหน้าที่ตามแผนกที่จะคอยรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ เช่น แผนกสร้างสรรค์เรื่อง เขียนสคริปต์และบทพูด , แผนกจิตวิทยา เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรม , แผนกเทรนนิ่ง เพื่อฝึกวิธีการพูด , แผนกหาเหยื่อ เพื่อเข้าร่วมทีมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีทั้งที่มาด้วยความเต็มใจและถูกหลอกมา , รวมถึง แผนกหาบัญชีม้า หรือ บัญชีทางผ่าน เพื่อรับโอนเงินระหว่างเหยื่อและมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ เครือซีพี ตระหนักถึงภัยการหลอกหลวงออนไลน์ โดยเฉพาะกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ยังคงสร้างความเดือดร้อนและสร้างความรำคาญให้กับประชาชนอยู่เสมอ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ โครงการ "ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือ อาทิ แม็คโคร โลตัส เซเว่นอีเลฟเว่น และ สถานีข่าว TNN เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ
ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หากเกิดเหตุการณ์โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ให้ตั้งสติ เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น เบอร์โทรศัพท์ เวลาที่ติดต่อ เลขที่บัญชีของคนร้าย ตู้เอทีเอ็มสาขาที่โอนเงิน เป็นต้น แล้วติดต่อไปยังธนาคารเพื่อแจ้งระงับการโอนเงิน และสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 081-866-3000 ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com