
กรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ จัดกิจกรรม “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย: จากครัวบ้าน สู่ครัวโลก” ที่ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร
เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลในการยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผลให้เกิดการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ มีสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ เครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมฯ โดยมีนางสุดฤทัย เลิศเกษม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานในการจัดงาน
อาหารไทยเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ในปี 2566 มีร้านอาหารไทยในต่างแดนรวม 17,478 ร้าน เฉพาะสหรัฐอเมริกา มีร้านอาหารไทยมากที่สุด จำนวน 6,850 ร้าน เมื่อปี 2567 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท ประกอบกับไทยกำลังก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ประจำปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาอิทธิพลทางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก

สรุปข่าว
รัฐบาลโดยสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Thailand Creative Content Agency: THACCA) จึงได้ดำเนินโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทยที่มีฝีมือด้านอาหารไทยทั่วประเทศได้เพิ่มพูนทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการทำอาหารไทยที่เป็นมาตรฐานระดับสากล สามารถผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้เพียงพอต่อความต้องการขอตลาดโลกได้
โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างยั่งยืน” โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนขับอุตสาหกรรมด้านอาหาร ได้เน้นถึงยุทธศาสตร์ในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย และการพัฒนาคุณภาพอาหารไทยให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ขณะที่
นางสาวยุวภา ใจบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอถึงความพร้อมของสถาบันอาหาร ในการสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของรัฐบาล
โอกาสนี้ เจ้ไฝ สุภิญญา จันสุตะ “ราชินีสตรีตฟูด” เชฟและเจ้าของร้านอาหารดาวมิชลิน 8 ปีซ้อน ได้สาธิตการทำไข่เจียวปู เมนูขึ้นชื่อที่คนดังและนักชิมทั่วโลกต่างรู้จัก พร้อมบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จ “จากริมถนนสู่ดาวมิชลิน” ในงานนี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำอาหาร โดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรด้านอาหารภายใต้โครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power: OFOS)” และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการเยี่ยมชมนิทรรศการอาหารริมทางของไทย
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายชาวต่างประเทศได้เข้าใจแนวทาง การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอาหารจากชุมชนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจควบคู่กับการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลก(เมื่อวันที่ 24 ก.พ.68)
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์