
นักท่องเที่ยวและผู้คนในท้องถิ่นบนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ต่างแสดงความไม่พอใจ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจกลับไปใช้หลอดพลาสติกอีกครั้ง ในขณะที่หลายประเทศได้ออกกฎห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ โดยเฉพาะเกาะบาหลี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอินโดนีเซีย ซึ่งในแต่ละปีเผชิญปัญหาขยะพลาสติกหลายตันถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง
จากการประเมินของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น พบว่า มีขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างน้อยกว่า 3 ล้าน 2 แสนตันในอินโดนีเซีย โดยตามระบบข้อมูลการจัดการขยะแห่งชาติ (SIPSN) พบว่า มีขยะพลาสติกที่ผลิตขึ้นในบาหลีเพียงแห่งเดียวถึง 1 ล้าน 2 แสนตันในปี 2567

สรุปข่าว
“โกมัง ซูดีอาร์ตา” ผู้ก่อตั้งชุมชนมาลู ดอง องค์กรอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของทรัมป์ ถือเป็นการตัดสินใจที่ “ล้าหลัง” จากประเทศโลกที่หนึ่ง เขาผิดหวังมากจากคำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วควรเป็นตัวอย่างที่ดี พวกเขาควรจะจำกัดการผลิตขยะจึงจะถูก
คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้พันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการแรก ๆ ของการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของเขา โดยเขาถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งที่สอง
ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันจันทร์ ประกาศนโยบาย "ยุติการใช้หลอดกระดาษ" หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ และภาคธุรกิจเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือหลอดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
แต่ในการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ทรัมป์กล่าวว่า หลอดกระดาษนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ มีสารเคมีที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และมีต้นทุนในการผลิตแพงกว่าหลอดพลาสติก รวมทั้งบ่อยครั้งที่ผู้ใช้ต้องใช้หลอดมากกว่าหนึ่งอัน