กทม. ควรปลูกต้นไม้ริมถนน ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 50%

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ริมถนน ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 50%

กรุงเทพฯเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับอันตรายอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการจราจรที่หนาแน่น รถบรรทุกดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

งานวิจัยจากยุโรปและอเมริกาพบว่าต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีใบหนาแน่น หากปลูกเป็นแนวสองฝั่งถนนแบบ "หุบเขาเมือง" (Street canyon) สามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้สูงถึง 50% โดยใช้ใบไม้เป็นตัวกรองฝุ่นตามหลักการ Bio filter


กทม. ควรปลูกต้นไม้ริมถนน ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 50%

สรุปข่าว

“ดร.สนธิ” แนะการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ริมถนนแบบ "หุบเขาเมือง" (Street canyon) ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 50% โดยใช้ใบไม้เป็นตัวกรองฝุ่น แต่กรุงเทพฯยังปลูกต้นไม้ริมถนนน้อย ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

เมื่อรถยนต์ปล่อยฝุ่นออกมา ต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวถนนจะช่วยดักจับฝุ่นไว้ที่เซลล์ของใบไม้ และเมื่อฝุ่นบางส่วนลอยขึ้นไปในอากาศ แต่ไม่สามารถกระจายตัวได้เนื่องจากสภาพอากาศกดทับ ฝุ่นจะย้อนกลับลงมาสู่ระดับถนนและถูกใบไม้ฝั่งตรงข้ามดูดซับซ้ำอีกครั้ง

แม้ว่าต้นไม้จะช่วยลดฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในกรุงเทพฯ กลับมีการปลูกต้นไม้ริมถนนจำนวนน้อย และนิยมก่อสร้างอาคารสูงขนาบข้างถนนแทน ทำให้ฝุ่นถูกกักอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีโครงสร้างเป็นลักษณะ "แอ่งกระทะ" ส่งผลให้ฝุ่นสะสมมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีใบหนาแน่น เช่น ตะแบก อโศกอินเดีย ชมพูพันธุ์ทิพย์ เสลา และอินทนิล 

นักสิ่งแวดล้อมเสนอให้กรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวริมถนนหลัก และ เปลี่ยนแนวคิดจากการสร้างอาคารสูงสองข้างถนน เป็นการปลูกต้นไม้แนว "หุบเขาเมือง" เพื่อช่วยลดมลพิษในระยะยาว ทั้งนี้ การปลูกต้นไม้เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 แต่การจัดการมลพิษที่ต้นทาง เช่น การควบคุมไอเสียจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน

ที่มาข้อมูล : Sonthi Kotchawat

ที่มารูปภาพ : Reuters