Exclusive Content : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อะไรดี อะไรโดน

มาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว "ชิมช้อปใช้เฟส แรก" ที่ได้รับการตอบรับดีเกินคาด รัฐบาลยังคงออกมาตรการกระตุ้นศก.ระยะที่2 ต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ท้ายปีอีกด้วย
ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาล ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรับมนตรี ก็เร่งเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยทันที เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบทั้งเศรษฐกิจโลก และผลกระทบภายในประเทศ
โดยเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เพื่อดูแลเศรษฐกิจในระยะแรก วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการที่สำคัญมีทั้งหมดด้วยกัน 4 ด้าน ได้แก่
1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน
2. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย
3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
และ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่1 ที่ได้รับการตอบรับอย่างมาก ก็คือ "ชิมช้อปใช้" ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่จะแจกเงินประชาชนเพื่อไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวถึงคนละ 1,500 บาท แต่เมื่อสรุปมาตรการตามมติครม.แล้ว ก็ได้ปรับลงมาเหลือ 1,000 บาท/ราย และมีเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้น โดยมีการให้สิทธิ 10 ล้านราย ในการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิใช้จ่ายเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือ g-Wallet ของกรุงไทย 1,000 บาทผ่าน g-Wallet 1 และหากโอนเงินส่วนตัวเข้า g-Wallet 2 เพื่อใช้จ่าย ก็จะได้สิทธิรับเงินคืนหรือ cash back 15% ด้วย

นอกจากนี้ การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันยังได้ ปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 ราย รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 จำนวนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่ง มาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” นี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 เช่นกัน
มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย
สำหรับมาตรการนี้ ใครที่ยังไม่มีบ้าน น่าจะสนใจ เพราะรัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 แต่จะจำกัดเฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวามคม ปีหน้า( 63)
มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
เพื่อสนับสนุนมาตรการที่อยู่อาศัยข้างต้นแล้ว ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐก็จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัย ในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับมาตรการสินเชื่อนี้ จะมีไปจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก
โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท โดยต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุด ที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน
ทำไมต้องกำหนดราคาบ้าน 3 ล้าน
การกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ในตลาด ณ เดือนตุลาคม 2562 ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57 ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้ ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ธอส.ก็คาดว่าจะช่วยนำตลาดในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ ให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย
มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (Front Load)
มาตรการนี้ก้เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินนั้น ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 2 นี้ กระทรวงการคลังเองก็คาดกวังว่า จะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานราก ไปจนถึงระดับประเทศได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น
- Exclusive Content : "ชิมช้อปใช้"พลาดเฟส1 เฟส2 ต้องห้ามพลาด(มีคลิป)
- Exclusive Content : "สมาร์ท ซิตี้" เส้นทางปั้นสตาร์ทอัพสู่อาเซียน
- Exclusive Content : เปิดศึก"เวนดิ้งแมชีน 2019"ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในไทย
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ติดตาม TNN ติดตามข่าว 24 ชั่วโมง
อัพเดทข่าวสารกัน นาทีต่อนาที